วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วิธีแลกนามบัตร


   ในการติดต่อทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่น การแลกนามบัตรถือเป็นมารยาทและเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่ควรปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่รู้กันสำหรับคนที่ทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่น แต่การแลกนามบัตรสำหรับคนญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงแค่ยื่นนามบัตรของตนให้แก่อีกฝ่ายเป็นอันจบ จะต้องมีเทคนิคที่คนญี่ปุ่นจะต้องเรียนรู้และจดจำ ถึงกับมีการอบรมกันสำหรับในแผนกที่ต้องพบปะกับลูกค้าเป็นประจำ
   เราคนไทยถึงแม้จะไม่จำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามเทคนิคต่างๆอย่างเคร่งครัด แต่การปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมก็จะทำให้คู่ค้าหรือลูกค้าคนญี่ปุ่นประทับใจ นำมาซึ่งการติดต่อธุรกิจที่ราบรื่น และสำหรับคนที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น การแลกนามบัตรกับคนญี่ปุ่นเห็นจะเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะให้นามบัตร
  • การยื่นนามบัตร ผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่า ต้องเป็นฝ่ายยื่นให้ก่อน
  • ไม่ควรยื่นนามบัตรในขณะที่นั่งอยู่ ควรลุกขึ้นยืน มองฝ่ายตรงข้ามและยื่นนามบัตรด้วยมือทั้งสองข้างในระดับอก
  • หันนามบัตรด้านที่ฝ่ายตรงข้ามสามารถอ่านได้เลย
  • ผู้รับนามบัตรก็ควรรับนามบัตรด้วยมือทั้งสองข้าง
  • หากยื่นนามบัตรพร้อมกัน ให้ยื่นนามบัตรของตนเองด้วยมือขวา และรับนามบัตรจากฝ่ายตรงข้ามด้วยมือซ้าย
หลังจากรับนามบัตร
  • เมื่อรับนามบัตรแล้ว ให้อ่านนามบัตรอย่างใส่ใจ ไม่ควรเก็บนามบัตรใส่ซองนามบัตรทันที
  • หากนั่งอยู่ที่โต๊ะประชุมหรือพูดคุยงานอยู่ ให้วางนามบัตรอยู่บนซองนามบัตรหรือวางไว้บนโต๊ะก่อน
  • หากอีกฝ่ายมีหลายคน ให้วางนามบัตรเรียงตามลำดับที่นั่งของฝ่ายตรงข้ามที่จะช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น
  • ถ้าชื่อภาษาญี่ปุ่นตัวคันจิอ่านยากเกินไปหรืออ่านไม่ออก สามารถถามผู้ให้นามบัตรได้ (กรณีไม่มีชื่อภาษาอังกฤษบนนามบัตร)
  • ห้ามเขียนหรือจดโน้ตลงบนนามบัตรต่อหน้าฝ่ายตรงข้าม ยกเว้นกรณีที่ต้องเขียนบางอย่างเกี่ยวกับเจ้าของนามบัตร ให้กล่าวขอโทษก่อนแล้วค่อยเขียนลงไป
  • หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ห้ามลืมนามบัตรทิ้งไว้บนโต๊ะเป็นอันขาด
  • หลังจากนั้นให้จดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้นามบัตรบนนามบัตร เพื่อให้สามารถจดจำผู้ให้นามบัตรได้
Credit : http://anngle.org

พิธีชงชา



   การดื่มชา เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่รับเข้ามาจากจีน แล้วดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมของตน จนกลายเป็นวัฒนธรรมของตนเองในที่สุด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นและ เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก

   พิธีการชงชานั้นในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า " ซะโดะ " ชาที่นำมาใช้ชงนั้นจะต้องบดชาให้เป็นผงละเอียด เรียกว่า " มัทฉะ "  นอกจากวัตถุดิบที่สำคัญนี้แล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์อย่างอื่นอีก  คือ ถ้วยชา ที่เกือบทุกบ้านจะเลือกใช้ถ้วยที่สวยงาม โชว์ศิลปะหรือความพิเศษเฉพาะตัว บางถ้วยมีคุณค่าเป็นมรดกตกทอดประจำตระกูลกันเลยทีเดียว นอกจากนั้นก็จะมีกระปุกสำหรับใส่ผงชาเขียว ช้อนตักชาที่เป็นช้อนไม้ใผ่ขนาดเล็กๆ ปลายงอเล็กน้อย ไม้ชงชาจะมีลักษณะคล้ายๆ ที่ตีไข่แต่ขนาดเล็กกว่า โดยส่วนที่ใช้คนจะนำไม้ใผ่ซี่บางๆ มาดัดให้โค้งงอ ถ้ายิ่งเป็นพิธีการชั้นสูงก็จะยิ่งมีอุปกรณ์ต่างๆ เยอะขึ้นอีก รูปแบบการจัดพิธีชงชา มักจัดในห้องพิธีชาลำดับการชงชา คือ
   ผู้ชงจะใส่มัทฉะ (ผงชาเขียว) ลงในถ้วยชาและตักน้ำร้อนหม้อต้มมาใส่ คนด้วยฉะเซน (ไม้คนชา) จนแตกฟอง  เมื่อได้ที่ก็จะยก ถ้วยชาขึ้นหมุนประมาณ 3 ครั้งแล้ววางไว้ด้านหน้าผู้ดื่ม
 
วิธีดื่ม คือ ยกถ้วยชาขึ้นมาด้วยมือขวา และวางลงบนฝ่ามือข้างซ้าย หมุนถ้วยชาเข้าหาตัวหลังจากดื่มเสร็จ แล้วใช้ปลายนิ้วเช็ดขอบถ้วยชา และใช้ไคชิ (กระดาษรองขนม) เช็ดนิ้ว แต่องค์ประกอบที่สำคัญของพิธีชงชาไม่ใช้แค่การชงและการดื่มชา สิ่งสำคัญอยู่ที่การชื่นชมคุณค่าและความงามของสิ่งต่างๆ เช่น ถ้วยชา เครื่องใช้ในพิธีชงชา ชื่นชมความงามของบรรยากาศรอบๆตัวและการสื่อประสานใจระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือนนั่นเอง